วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

บทที่ 1 หน้าที่พลเมืองและวัฒนธรรมไทย

บทที่ 1 

หน้าที่พลเมืองและวัฒนธรรมไทย

  • สังคมประชาธิปไตยเป็นสังคมที่ยึดหลักความเท่าเทียมกันของบุคคลในสังคม ทั้งนี้ผู้ที่อาศัยอยู่ในสังคมประชาธิปไตยหรือพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยจึงควรมีการปฏิบัติตนที่สอดคล้องและสัมพันธ์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
สาระการเรียนรู้
  • 1. พลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตยในสังคมไทย
    • 1.1 หน้าที่ของพลเมืองดี 
    • 1.2 การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี 
  • 2. สถานภาพ บทบาท สิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ และการปฏิบัติตนตามรัฐธรรมนูญ
    • 2.1 หน้าที่ของพลเมืองดีตามรัฐธรรมนูญ


พลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตยในสังคมไทย

หน้าที่ของพลเมืองดี

ความหมายของพลเมืองดี
  • พลเมือง หมายถึง พละกำลังของประเทศ ซึ่งมีส่วนเป็นเจ้าของประเทศนั่นเอง ต่างจากชาวต่างด้าวเข้าเมือง ชาวต่างประเทศนี้เข้ามาอยู่ชั่วคราว
  • พลเมืองมีความหมายต่างจากบุคคล ซึ่งหมายถึง สิ่งซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
  • เมื่อกล่าวถึงพลเมืองของประเทศใด ย่อมหมายถึงบุคคลทั้งหลายที่มีสัญชาติของประเทศนั้น ๆ ตามกฎหมายของแต่ละประเทศ เช่น เมื่อกล่าวถึงพลเมืองของประเทศไทยย่อมหมายถึงคนทั้งหลายที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายไทย
  • พลเมืองของแต่ละประเทศย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของประเทศนั้น บุคคลต่างสัญชาติที่เข้าไปอยู่อาศัยซึ่งเรียกว่าคนต่างด้าว ไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับพลเมือง และมีหน้าที่แตกต่างออกไป เช่น อาจมีหน้าที่เสียภาษี หรือค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นตามที่กฎหมายของแต่ละประเทศบัญญัติไว้
  • สิทธิและหน้าที่เป็นสิ่งคู่กัน เมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่ พลเมืองของทุกประเทศมีทั้งสิทธิและหน้าที่ แต่จะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศนั้น ๆ และแน่นอนว่าประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิมากกว่าการปกครองในระบอบอื่น เพราะมีสิทธิที่สำคัญที่สุด คือ สิทธิในการปกครองตนเอง 
หน้าที่ของพลเมืองดี
  • พลเมืองดี หมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่พลเมืองได้ครบถ้วน ทั้งกิจที่ต้องทำ และกิจที่ควรทำ
  • หน้าที่ หมายถึง กิจที่ต้องทำ หรือควรทำ เป็นสิ่งที่กำหนดให้ทำ หรือห้ามมิให้กระทำ ถ้าทำก็จะก่อให้เกิดผลดี เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว หรือสังคมส่วนรวมแล้วแต่กรณี ถ้าไม่ทำหรือไม่ละเว้นการกระทำตามที่กำหนดจะได้รับผลเสียโดยตรง คือ ได้รับโทษ หรือถูกบังคับ เช่น ปรับ จำ คุก หรือประหารชีวิต เป็นต้น โดยทั่วไปสิ่งที่ระบุกิจที่ต้องทำ ได้แก่ กฎหมาย เป็นต้น
  • กิจที่ควรทำ คือ สิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ หรือละเว้นการกระทำ ถ้าไม่ทำหรือละเว้นการกระทำ จะได้รับผลเสียโดยทางอ้อม เช่น ได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือไม่คบค้าสมาคมด้วย ผู้กระทำกิจที่ควรทำจะได้นับการยกย่องสรรเสริญจากคนในสังคม โดยทั่วไปสิ่งที่ระบุกิจที่ควรทำ ได้แก่วัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น 
  • พลเมืองดีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของชาติคำสั่งสอนของพ่อแม่ ครู อาจารย์ มีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน รู้จักรับผิดชอบชั่วดีตามหลักจริยธรรม และหลักธรรมของศาสนา มีความรอบรู้ มีสติปัญญาขยันขันแข็ง สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ 

การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี
  • บุคคลจะเป็นพลเมืองดีของสังคมนั้น ต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติ และมุ่งมั่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ด้วยความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ สอดคล้องกับหลักธรรม วัฒนธรรมประเพณี และรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ รวมทั้งบทบาททางสังคมที่ตนดำรงอยู่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และได้ประสิทธิผลทั้งในส่วนตนและสังคม เมื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ย่อมเกิดความภาคภูมิใจและเกิดผลดีทั้งต่อตนเองและสังคม ด้วยการเป็นพลเมืองดีที่เคารพกฎหมาย เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น มีความกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของชุมชนและสังคม มีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิตอย่างผาสุข 
พลเมืองดี มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ ดังนี้

1. หน้าที่ของพลเมืองดีของสังคม
  • หน้าที่เป็นภารกิจที่บุคคลต้องกระทำเพื่อสร้างคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เมื่อเกิดมาเป็นคนและค่าของคนอยู่ที่การปฏิบัติหน้าที่ โดยมีความรับผิดชอบเป็นหัวใจสำคัญ และต้องสอดคล้องกับบทบาททางสังคมที่แต่ละบุคคลดำรงอยู่ หน้าที่จึงเป็นภารกิจที่จะต้องกระทำเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่อย่างมีคุณค่า และเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งอาจเป็นหน้าที่ตามหลักศีลธรรม กฎหมาย หรือจิตสำนึกที่ถูกต้องเหมาะสม หน้าที่ที่เป็นภารกิจของพลเมืองดีโดยทั่วไปพึงปฏิบัติ มีดังนี้
การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามหลักธรรม
  • การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามหลักธรรม เป็นหน้าที่ของพลเมืองดีพึงปฏิบัติ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ 
1. จริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม
  • จริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม เป็นคำที่มักใช้ปะปนกัน หากจะพิจารณาความหมายของคำศัพท์ที่นำมาประกอบกันเป็นคำเหล่านี้ พอจะแยกได้ ดังนี้
จริย กริยาที่ควรประพฤติ คุณ ดี มีประโยชน์ 
ศีล การประพฤติปฏิบัติดีตามปกติวิสัย
  • จริยธรรม หลักการของกิริยาที่ควร ประพฤติทำให้สังคมอยู่ด้วยกันโดยสงบ เช่น - อยู่ในระเบียบวินัย - ตรงต่อเวลา
    • - มีความรับผิดชอบ 
    • - ไม่เบียดเบียนผู้อื่น 
    • - ไม่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย
  • คุณธรรม หลักการที่ดีมีประโยชน์ที่สังคมเห็นว่าเป็นความดีความงาม เช่น
    •  - ซื่อสัตย์ 
    • - สุจริต
    • - มีเมตตา 
    • - เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
    • - เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
  • ศีลธรรม ความเป็นปกติหรือการรักษากาย วาจา ใจให้เป็นปกติ ไม่ทำชั่วหรือเบียดเบียนผู้อื่น เช่น 
    • - ห้ามพูดเท็จ ให้พูดแต่ความจริง
    • - ห้ามเสพของมึนเมา ให้มีสติอยู่เสมอ
    • - ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ให้มีความเมตตากรุณา

สรุป 
  • จริยธรรม หมายถึง หลักในการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเสียหาย 
  • คุณธรรม หมายถึง หลักในการประพฤติปฏิบัติที่สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น
  • ศีลธรรม หมายถึง หลักในการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเสียหาย พร้อมกันนั้นก็สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นด้วย 
  • ความสำคัญของจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม มนุษย์นับว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และมีความสำคัญมากที่สุดในโลก เพราะมนุษย์เป็นทรัพยากรที่สามารถเรียนรู้และรับการฝึกอบรมสั่งสอน จนสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อโลกได้ ในการเรียนรู้และการฝึกอบรมเพื่อสะสมประสบการณ์ชีวิต มนุษย์ควรได้รับการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมไปด้วยพร้อม ๆ กัน เพราะคุณธรรมจริยธรรมมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคนเป็นอย่างมาก อาจ

สรุปความสำคัญของคุณธรรมและจริยธรรมได้ดังนี้ คือ 
    • 1. ช่วยให้ชีวิตดำเนินไปด้วยความราบรื่นและสงบสุข ไม่พบอุปสรรค
    • 2. ช่วยให้คนเรามีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ไม่เผลอตัว ไม่ลืมตัว จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งใดก็จะระมัดระวังตัวอยู่เสมอ
    • 3. ช่วยสร้างความมีระเบียบวินัยให้แก่บุคคลในชาติ
    • 4. ช่วยควบคุมไม่ให้คนชั่วมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่น นับว่าเป็นคุณแก่สังคม เพราะนอกจากจะเป็นตัวอย่างโดยการชี้นำทางอ้อมแล้ว ยังจะออกปากแนะนำสั่งสอนโดยตรงได้อีกด้วย
    • 5. ช่วยให้มนุษย์นำความรู้และประสบการณ์ ที่ร่ำเรียนมาสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่า
    • 6. ช่วยควบคุมการเจริญทางด้านวัตถุและจิตใจของคนให้เจริญไปพร้อม ๆ กัน
    • 7. ช่วยสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้มนุษย์
  • ความสำคัญของคุณธรรม และจริยธรรมที่กล่าวมานี้ ประเด็นที่สำคัญก็คือ สามารถลดปัญหา และขจัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นแก่บุคคล สังคม และประเทศชาติได้ เมื่อทุกคนประพฤติปฏิบัติตนดีแล้ว อุปสรรค ศัตรู ภัยอันทราย ก็จะหมดสิ้นไป ผู้คนมีแต่ความรักต่อกัน สังคมมีแต่ความสงบ และประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรือง

ลักษณะของจริยธรรม คุณธรรม

  • คุณธรรมและจริยธรรม คือ สิ่งที่เป็นความดีควรประพฤติปฏิบัติ เพราะจะนำความสุข ความเจริญ ความมั่นคงมาสู่ประเทศชาติ สังคม และบุคคล คุณธรรมจริยธรรมที่สำคัญ ๆ มีดังต่อไปนี้ 
    • 1. ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประเทศชาติ นับว่ามีพระคุณอย่างมหาศาล เพราะเป็นสถานที่ ที่เราทุกคนอยู่อาศัยอย่างผาสุกตั้งแต่เกิดจนตาย ให้เราได้ประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิต ให้เราได้ภาคภูมิใจในเกียรติและศักดิ์ศรีที่มีชาติเป็นของตนเอง ไม่เป็นทาสใคร เราต้องมีความซื่อสัตย์ต่อชาติ รักและหวงแหน ยอมสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อให้ชาติเป็นเอกสารสืบไป ป้องกันไม่ให้ผู้ใดมาทำลาย ปกป้องชื่อเสียงไม่ให้ใครมาดูแคลน และประพฤติตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาติบ้านเมือง ศาสนา เป็นที่พึ่งทางกายและทางจิตใจ ทำให้มนุษย์ดำรงชีพร่วมกันในสังคมอย่างมีสันติสุข เรามีหน้าที่ทำนุบำรุงพระศาสนาให้มั่นคงสถาพรสืบต่อไป ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์พระศาสดา สร้างและบูรณะ ศาสนาสถาน ฟังธรรม และปฏิบัติธรรมอยู่เป็นนิจ ประพฤติต่อผู้อื่นด้วยความสุจริตทั้ง กาย วาจา และใจ องค์พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นศูนย์รวมของชาวไทยทั้งประเทศ พระองค์ทรงเป็นผู้นำและผู้ปกป้องชาติและศาสนา ทรงบำบัดทุกข์และบำรุงสุข ให้แก่ราษฎรด้วยความเสียสละในทุก ๆ ด้าน เราต้องเทิดทูนพระองค์ไว้สูงสุด รับใช้สนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างเต็มความสามารถ ประพฤติตนเป็นคนดีไม่เป็นภาระแก่พระองค์ และถ้ามีความจะเป็นแม้ชีวิตของเราเองก็สามารถจะถวายพลีชีพได้ เพื่อความเป็นปึกแผ่น และยั่งยืนของสถาบันพระมหากษัตริย์ 
    • 2. ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ หมายถึง การปฏิบัติกิจการงานของตนเอง และที่ได้รับมอบหมายด้วยความมานะพยายาม อุทิศกำลังกาย กำลังใจอย่างเต็มความสามารถ ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยจนงานประสบความสำเร็จตรงตามเวลา บังเกิดผลดีต่อตนเองและส่วนรวม ทั้งนี้รวมไปถึงการรับผิดเมื่องานล้มเหลว พยายามแก้ไขปัญหาและอุปสรรคโดยไม่เกี่ยงงอนผู้อื่น 
    • 3. ความมีระเบียบวินัย หมายถึง การเป็นผู้รู้และปฏิบัติตามแบบแผนที่ตนเอง ครอบครัว และสังคมกำหนดไว้ โดยที่จะปฏิเสธไม่รับรู้กฎเกณฑ์หรือกตาต่าง ๆ ของสังคมไม่ได้ คุณธรรมข้อนี้ต้องใช้เวลาปลูกฝังเป็นเวลานาน และต้องปฏิบัติสม่ำเสมอจนกว่าจะปฏิบัติเองได้ และเกิดความเคยชิน การมีระเบียบวินัยช่วยให้สังคมสงบสุขบ้านเมืองมีความเรียบร้อย เจริญรุ่งเรือง 
    • 4. ความซื่อสัตย์ หมายถึง การปฏิบัติตน ทางกาย วาจา จิตใจ ที่ตรงไปตรงมา ไม่แสดงความคดโกงไม่หลอกลวง ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ลั่นวาจาว่าจะทำงานสิ่งใดก็ต้องทำให้สำเร็จเป็นอย่างดี ไม่กลับกลอก มีความจริงใจต่อทุกคน จนเป็นที่ไว้วางใจของคนทุกคน
    • 5. ความเสียสละ หมายถึง การปฏิบัติตนโดยอุทิศกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังปัญญา เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมด้วยความตั้งใจจริง มีเจตนาที่บริสุทธิ์ คุณธรรมด้านนี้เป็นการสะสมบารมีให้แก่ตนเอง ทำให้มีคนรักใคร่ไว้วางใจ เป็นที่ยกย่องของสังคม ผู้คนเคารพนับถือ 
    • 6. ความอดทน หมายถึง ความเป็นผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคใด ๆ มุ่งมั่นที่จะทำงานให้บังเกิดผลดีโดยไม่ให้ผู้อื่นเดือดร้อน ความอดทนมี 4 ลักษณะ คือ 
      • - อดทนต่อความยากลำบาก เจ็บป่วย ได้รับทุกขเวทนาก็ไม่แสดงอาการจนเกินกว่าเหตุ 
      • - อดทนต่อการตรากตรำทำงาน ไม่ทอดทิ้งงาน ฟันฝ่าอุปสรรคจนประสบผลสำเร็จ 
      • - อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่แสดงความโกรธ ไม่อาฆาตพยาบาท อดทนต่อคำเสียดสี 
      • - อดทนต่อกิเลส คือ ไม่อยากได้ของผู้อื่นจนเกิดทุกข์ ไม่ตอบโต้คนอื่นที่ทำให้เราโกรธ และไม่ลุ่มหลงในสิ่งที่จะพาเราไปพบกับความเสียหาย
    • 7. การไม่ทำบาป หมายถึง การงดเว้นพฤติกรรมที่ชั่วร้าย สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นเพราะเป็นเรื่องเศร้าหมองของจิตใจ ควรงดเว้นพฤติกรรมชั่วร้าย 3 ทาง คือ 
      • - ทางกาย เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทุจริต ไม่ลักขโมย ไม่ผิดประเวณี 
      • - ทางวาจา เช่น ไม่โกหก ไม่กล่าวถ้วยคำหยาบคาย ไม่ใส่ร้าย ไม่พูดเพ้อเจ้อ
      • - ทางใจ เช่น ไม่คิดเนรคุณ ไม่คิดอาฆาต ไม่คิดอยากได้ 
    • 8. ความสามัคคี หมายถึง การที่ทุกคนมีความพร้อมกาย พร้อมใจ และพร้อมความคิดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายที่จะปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จ โดยไม่มีการเกี่ยงงอนหรือคิดชิงดีชิงเด่นกัน ทุกคนมุ่งที่จะให้สังคมและประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง มีความรักใคร่กลมเกลียวกันด้วยความจริงใจ ความไม่เห็นแก่ตัว การวางตนเสมอต้นเสมอปลายก็หมายถึงความสามัคคีด้วย

การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามวัฒนธรรมไทย

  • วัฒนธรรม คือ แบบแผนการกระทำ หรือผลการกระทำที่พัฒนาจากสภาพเดิมตามธรรมชาติให้ดีงามยั่งยืนจนเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม
  • ตัวอย่างแบบแผนการกระทำ เช่น กิริยา มารยาท การพูด การแต่งกาย การรับประทานอาหาร เป็นต้น ส่วนผลจากการกระทำ เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เป็นต้น
  • วัฒนธรรมการไหว้ เป็นวัฒนธรรมภายนอกที่มักได้รับการตอบสนองจากผู้ได้รับด้วยการไหว้ตอบนอกจากนี้ ยังมีวัฒนธรรมไทยอื่นๆ ที่งดงาม เช่น การกราบ การแต่งกายแบบไทยในโอกาสต่าง ๆ การทำบุญ ตักบาตร ฯลฯ 
การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามประเพณีไทย 
  • ขนบธรรมเนียมประเพณี คือ สิ่งที่ปฏิบัติสืบทอดสืบทอดกันมาและถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามของแต่ละสังคมอาจเหมือนกัน คล้ายกัน หรือแตกต่างกันก็ได้ และสิ่งที่ดีงามของสังคมหนึ่งเมื่อเวลาผ่าน ไปสังคมนั้นอาจเห็นเป็นสิ่งไม่ดีงามก็ได้ 
  • วัฒนธรรมและประเพณีไทย เป็นกิจกรรมที่สืบทอดมายาวนานและสังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งดีควรอนุรักษ์ไว้ 
  • การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมไทยและสังคมโลก การที่บุคคลจะเป็นสมาชกที่ดีของสังคมไทยและสังคมโลก จะต้องคำนึงถึงสถานภาพ บทบาท สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ในการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี

สถานภาพ บทบาท สิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ และการปฏิบัติตนตามรัฐธรรมนูญ
หน้าที่ของพลเมืองดีตามรัฐธรรมนูญ

  • รัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิและเสรีภาพ แก่ประชาชนให้มีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศมากขึ้น สิทธิและเสรีภาพโดยทั่วไปมักใช้รวม ๆ 
  • ไปด้วยกัน แต่สิทธิที่เป็นเสรีภาพแตกต่างจากสิทธิประเภทอื่นคือ เสรีภาพนั้นคือการที่บุคคลสามารถกระทำในเรื่องหนึ่ง ๆ โดยไม่ต้องอาศัยให้รัฐดำเนินการใด ๆ ให้ เช่น เสรีภาพในการพูด ถ้าไม่เป็นใบ้ บุคคลย่อมสามารถพูดโดยไม่ต้องอาศัยให้รัฐทำสิ่งใดให้ และการที่รัฐธรรมนูญจะรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการพูดหรือไม่ ไม่ได้ทำให้บุคคลต้องพูดไม่ได้กลายเป็นใบ้ไปเพียงแต่ว่าอาจถูกรัฐห้ามไม่ให้พูดหรือแสดงความคิดเห็นได้ ส่วนสิทธิประเภทที่ไม่ใช่เสรีภาพ เป็นสิทธิที่บุคคลจะต้องอาศัยความช่วยเหลือและการดำเนินการบางประการจากรัฐ เช่น ในการใช้สิทธิเลือกตั้งต้องมีการกำหนดวันเลือกตั้ง รับสมัครผู้ลงเลือกตั้ง จัดหน่วยเลือกตั้ง เป็นต้น หรือสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการ ต้องมีการรับอุทธรณ์ หรือร้องเรียนเมื่อหน่วยงานราชการไม่ให้ข้อมูลข่างสารที่ประชาชนขอ และต้องมีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อประชาชนได้สิทธิมากขึ้นก็ควรปฏิบัติหน้าที่ตอบแทนแผ่นดินให้มากขึ้นเช่นกัน เพราะสิทธิกับหน้าที่เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินไปด้วยกันเสมอ
ความหมายของ สถานภาพ บทบาท สิทธิเสรีภาพ และหน้าที่ 
  • 1. สถานภาพ หมายถึง ตำแหน่งที่บุคคลได้รับจากการเป็นสมาชิกของสังคม แบ่งออกเป็นสถานภาพที่ได้มาโดยกำเนิด เช่น ลูก หลาน คนไทย เป็นต้น และสถานภาพทางสังคม เช่น ครู นักเรียน แพทย์ เป็นต้น 
  • 2. บทบาท หมายถึง การปฏิบัติตามสิทธิ หน้าที่อันเนื่องมาจากสถานภาพของบุคคล เนื่องจากบุคคลมีหลายสถานภาพในคนคนเดียว ฉะนั้นบทบาทของบุคคลจึงต้องปฏิบัติไปตามสถานภาพในสถานการณ์ตามสถานภาพนั้น ๆ 
  • 3. สิทธิ หมายถึง อำนาจหรือผลประโยชน์ของบุคคลที่กฎหมายให้ความคุ้มครอง เช่น สิทธิเลือกตั้ง กฎหมายกำหนดให้บุคคลที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์มีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมายมีสิทธิเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 
  • 4. เสรีภาพ หมายถึง ความมีอิสระในการกระทำของบุคคลที่อยู่ในของเขตของกฎหมาย เช่น เสรีภาพในการพูด การเขียน เป็นต้น 
  • 5. หน้าที่ หมายถึง ภาระรับผิดชอบของบุคคลที่จะต้องปฏิบัติ เช่น หน้าที่ของบิดาที่มีต่อบุตร เป็นต้น
2. หน้าที่ของพลเมืองดีของสังคมตามรัฐธรรมนูญ
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กล่าวถึงหน้าที่ของชนชาวไทยตามระบอบประชาธิปไตย อันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งทุกคนจะต้องรักษาและปฏิบัติตามจะหลีกเลี่ยงมิได้ พอสรุปได้ดังนี้

การรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 

  • 1. การรักษาชาติ บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ เป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 66 เมื่อคนไทยมีหน้าที่รักษา ก็ต้องดูแล และป้องกันชาติ มิให้ผู้ใดใช้ข้ออ้างใด ๆ เพื่อแบ่งแยกแผ่นดินไทย ด้วยเหตุผลทางการเมือง การปกครอง หรือศาสนา เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า "ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้" ดังนั้น ผู้ใดจะมาชักจูง โน้มน้าวเราด้วยเหตุผลใดๆ ถือว่าเป็นผู้ทำลายประเทศชาติ คนไทยทุกคนมีหน้าที่รักษาชาติให้มีเสถียรภาพ มั่นคงถาวรและเป็นเอกภาพตลอดไป
  • 2. การรักศาสนา เนื่องจากประเทศไทยให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาและสามารถประกอบพิธีกรรมตามศาสนาได้ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภ์ภก คือ ทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนาในประเทศไทย รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ที่เราทุกคนต้องรักษาไว้ซึ่งศาสนา ซึ่งน่าจะหมายถึงการบำรุงรักษาและเสริมสร้างศรัทธาเพื่อให้ศาสนาคงอยู่คู่บ้านเมืองและเป็นหลักยึดเหนี่ยวในด้านคุณธรรมสืบไป คนไทยทุกคนต้องช่วยกันสอดส่องดูแลทั่งฆราวาสและบรรพชิตให้มีวัตรจริยาอันเหมาะสมต่อศาสนาหรือลัทธิของตนจะอาศัยพระวินัยหรือนักบวชแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ 
  • 3. การรักษาพระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภารกิจนี้เป็นหน้าที่ยิ่งใหญ่ของคนไทยทุกคน เพราะประเทศไทยดำรงอยู่ได้และคนไทยอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขยืนยงมาทุกวันนี้ ด้วยพระบารมีของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ปกอยู่เหนือเกล้าฯ ชาวไทยทุกคนเพราะแต่ละพระองค์จะครองราชย์สมบัติ ดูแลบ้านเมืองอยู่ได้นานกว่าประมุขที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งมีความรู้สึกผูกพัน ตั้งแต่โบราณกาลถึงปัจจุบัน ย่อมจารึกอยู่ในดวงใจของชาวไทยทั้งประเทศ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่คนไทยต้องดูแลรักษาและเทิดทูนสถาบันและองค์พระมหากษัตริย์ไว้ด้วยชีวิต อีกทั้งต้องป้องกันภัยพาลอันเกิดจากวาจาหรือความคิดที่ไม่สุจริตทั้งปวง การปกครองของไทยจึงเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่แน่วแน่มั่นคงเพราะพระองค์ คือ สัญลักษณ์แห่งคุณธรรมและสันติสุข 
  • การปฏิบัติตามกฎหมาย บุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้กว้าง ๆ แต่มีความหมายครอบคลุมกฎหมายทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเอกชน มหาชน หรือกฎหมายระหว่างประเทศรวมทั้งกฎหมายระดับต่าง ๆ เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เป็นต้น เมื่อเราต้องเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับกฎหมายใด ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายนั้นๆ อย่างเคร่งครัด เพราะกฎหมายแต่ละฉบับนั้นได้มีการร่างและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน จึงเป็นหน้าที่ของชาวไทยทุกคนที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายเพื่อไม่ให้เสียเปรียบหรือได้รับโทษโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 
การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 
  • บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การใช้สิทธิเลือกตั้งมีทั้งในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย คือ ระบอบการ ปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ที่ถือเสียงข้างมากเป็นสำคัญแต่ก็เคารพสิทธิเสรีภาพของเสียงข้างน้อย ในระบอบประชาธิปไตยจึงมีการเลือกตั้งผู้แทนไปปฏิบัติหน้าที่แทนประชาชน ซึ่งอาจจะเป็นการเลือกผู้แทนเข้าไปเป็นสมาชิก สภานิติบัญญัติ หรืออาจเป็นการเลือกผู้แทนไปเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารโดยตรงก็ได้ แล้วแต่รูปแบบการปกครองของแต่ละประเทศ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งจึงถือเป็นกิจกรรมที่จำเป็นอย่างหนึ่งในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย การได้มีโอกาสใช้สิทธิในการเลือกตั้งจึงเป็นความภาคภูมิใจของประชาชนที่อยู่ในประเทศประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชนที่สำคัญคือ การเลือกตั้ง ดังนั้น ประชาชนควรภาคภูมิใจที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยเสรี ดังนั้นการเลือกตั้งจึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของคนไทย บุคคลใดที่ไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งได้ย่อมเสียสิทธิตามกฎหมาย
การพัฒนาประเทศ
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ระบุถึงหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในการป้องกันประเทศ ซึ่งสามารถแยกออกได้ 7 ประการ ดังนี้ 
    • 1. การป้องกันประเทศ เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน
    • 2. การรับราชการทหาร พระราชบัญญัติการตรวจเลือก พ.ศ.2497 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของชายไทยทุกคนต้องไปรับการตรวจเลือก หรือที่เรียกว่า เกณฑ์ทหาร เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ แต่ผู้อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนสามารถผ่อนผันได้ โดยผู้ที่ขอผ่อนผันต้องไปรายงานตัวทุกปีเมื่อมีการเกณฑ์ทหาร จนกว่าจะสำเร็จการศึกษา และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็ต้องไปเข้ารับการ คัดเลือกตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ไปเข้ารับการตรวจเลือก หรือหนีทหาร จะได้รับโทษทางอาญาสถานเดียว คือ จำคุก ตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 3 ปี 
    • 3. การเสียภาษีอากร ภาษีที่รัฐกำหนดมีหลายประเภท ดังนี้ 
      • - ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีที่รัฐเก็บจากประชาชนทุกคนที่มีรายได้ 
      • - ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีที่รัฐเก็บจากบริษัท ห้างร้านที่เป็นนิติบุคคล องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ กิจการร่วมค้า มูลนิธิและสมาคม 
      • - ภาษีการค้า เป็นภาษีที่รัฐเก็บจากผู้ประกอบการค้า หรือผู้ที่ถือว่าประกอบการค้าตามอัตราที่กำหนดไว้ ภาษีผู้ประกอบการค้าสามารถผลักภาระให้ผู้บริโภครับภาระภาษีนี้ได้ โดยรวมไว้ในราคาสินค้า เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
      • - ค่าอากรแสตมป์ เป็นการเก็บภาษีชนิดหนึ่ง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีการปิดอากรแสตมป์บนตราสินค้าบางอย่าง โดยเอามูลค่าของตราสารเป็นตัวตั้งในการคำนวณค่าอากร
        • ประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้นี้ ได้กำหนดถึงองค์ประกอบ เงื่อนไข วิธีการชำระภาษีและปิดอากรแสตมป์ไว้อย่างละเอียดซึ่งประชาชนผู้มีเงินได้อยู่ในลักษณะใดต้องเสียภาษีตามลักษณะนั้น และต้องชำระให้ตรงตามกำหนดเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด มิฉะนั้นจะเสียค่าปรับ ฉะนั้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนตนหรือคณะบุคคล จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนต้องศึกษาประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้ให้ละเอียดและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด การหลีกเลี่ยงการเสียภาษีรายได้ประจำปี หรือปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วน ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
        • นอกจากนี้ยังจัดเก็บภาษีอื่น ๆ อีก เช่น ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน และภาษีป้าย เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องเสียภาษีอากรตามที่ตนเกี่ยวข้องด้วยความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือรัฐ ซึ่งเงินรายได้จากการจัดเก็บภาษีรัฐได้นำกลับมาพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ และจัดบริการขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน เช่น การประกันสุขภาพ การประกันรายได้ขั้นต่ำ และการประกันความมั่นคงในวัยชรา เป็นต้น 
    • 4. การช่วยเหลือราชการ หน้าที่ในการช่วยเหลือราชการของประชาชนชาวไทยมิได้ถูกกำหนดไว้โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญ อยู่ในกฎหมายอาญา เช่น กรณีเกดภัยพิบัติต่าง ๆ บุคคลมีหน้าที่ช่วยเหลือราชการเมื่อได้รับการร้องขอ เราต้องถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในฐานะพลเมืองที่ดี
    • 5. การศึกษาอบรม รัฐได้กำหนดให้คนไทยทุกคนมีหน้าที่รับการศึกษาอบรม โดยเน้นให้รัฐและเอกชนจัดการศึกษาให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม 
      • สิ่งที่สำคัญมากคือ การขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็น 12 ปี ซึ่งรัฐต้องจัดให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ ให้ความสำคัญแก่เด็กและเยาวชนที่ไม่มีผู้ดูแล โดยรัฐให้มีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ยังให้บุคคลมีเสรีภาพทางวิชาการและให้เกิดองค์กรอิสระ เพื่อจัดคลื่นความถี่เพื่อใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เพื่อใช้ในการศึกษาอีกด้วย
    • 6. การพิทักษ์ปกป้องและสืบสานศิลปะ วัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น ชาติไทยเป็นชาติที่มีศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่มานาน ศิลปะและวัฒนธรรมช่วยให้ประเทศมีความเป็นเอกลักษณ์ที่งดงาม ศิลปะสาขาต่าง ๆ เช่น จิตรกรรม ปฏิมากรรม และภาพพิมพ์ตามวัดวาอาราม สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การเอกชนที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย เช่น ภาพปราสาท เรือนโบราณ โบสถ์ วิหาร รูปปั้น รูปหล่อต่าง ๆ ภาพวรรณกรรมตาม
      • ฝาผนังและเพดานของวัด ตลอดจนสถานที่สำคัญต่างๆ ล้วนมีคุณค่าที่คนไทยจะต้องหวงแหน รักษาและถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ เพื่อช่วยกันเชิดชูความเป็นไทยให้ยั่งยืน ด้านวัฒนธรรม ชาติไทยมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นและบ่งบอกถึงความเป็นไทย เช่น วัฒนธรรมในความเป็นชาติที่มีเอกภาพในการนับถือศาสนา และการยกย่องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ วัฒนธรรมในวิถีชีวิตของคนไทย เช่น การไว้ การกราบ การแต่งกายแบบไทย การทำบุญ ตักบาตร และการประเคนของพระ เป็นต้น ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น คนไทยต้องรักษา ปกป้อง และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย เช่น การทอผ้าด้วยหูก และกี่กระตุก การย้อมผ้าด้วยเปลือกไม้ การทำหนังตะลุง หนังใหญ่ การจักสานต่าง ๆ และการปรุงยาจากพืชสมุนไพร เป็นต้น 
      • หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของคนไทย คือ การปลุกจิตสำนึกให้รู้จักปกป้องไม่ให้ผู้ใดมาทำลาย หรือลบหลู่ดูหมิ่นศิลปะ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการผดุงรักษา ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงต้องเริ่มด้วยการปลุกจิตสำนึกคนไทยให้ตื่นตัว หันกลับมารักษา
      • ส่งเสริมและสร้างสรรค์สิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้ชาติไทยแข็งแกร่งสืบไป 
    • 7. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทุกคนต้องตระหนักในความสำคัญและคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
      • รัฐได้ตรากฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ เพื่อปกป้องคุ้มครองและควบคุมไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลายจนสูญสลาย หรือแปรสภาพไป การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งที่ประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือและเอาใจใส่ไม่ให้ผู้ใดมาทำลายสิ่งแวดล้อม อันจะมีผลกระทบต่อคน สัตว์ พืช และสภาพแวดล้อมต่างๆ นอกจากนี้กฎหมายผังเมืองได้ช่วยเสริมกฎหมายรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้ที่ดินให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ถูกสุขลักษณะและมีความปลอดภัยสำหรับประชาชน ซึ่งนอกจากจะให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว ยังคำนึงถึงสภาวะแวดล้อมที่จะกระทบต่อชีวิตของประชาชนด้วย เมื่อรัฐตรากฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้นมาแล้ว เป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทยทุกคนต้องร่วมกันดูแล รักษาและป้องกัน ไม่ให้ป่าไม้ แร่ธาตุ น้ำมัน ภูเขา แม่น้ำ ลำคลองและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ช่วยกันรักษาให้คงอยู่และพัฒนาและยั่งยืนสืบไป 

พลเมืองดีในวิถีชีวิตประชาธิปไตย
  • ความหมายของ พลเมืองดี” ในวิถีชีวิตประชาธิปไตย
  • พจนานุกรมนักเรียนฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของคำต่าง ๆ ดังนี้
  • พลเมือง หมายถึง ชาวเมือง ชาวประเทศ ประชาชน
  • วิถี หมายถึง สาย แนว ทาง ถนน
  • ประชาธิปไตย หมายถึง แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่
  • ดังนั้นคำว่า พลเมืองดีในวิถีชีวิตประชาธิปไตย จึงหมายถึง พลเมืองที่มีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นผู้ที่ยึดมั่นในหลักศีลธรรมและคุณธรรมของศาสนา มีหลักการทางประชาธิปไตยในการดำรงชีวิต ปฏิบัติตนตามกฎหมายดำรงตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอันจะก่อให้เกิดการพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เป็นสังคมและประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหลักการทางประชาธิปไตย
หลักการทางประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุด ได้แก่
  • 1) หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หมายถึง ประชาชนเป็นเจ้าของ อำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ
  • 2) หลักความเสมอภาค หมายถึง ความเท่าเทียมกันในสังคมประชาธิปไตย ถือว่าทุกคนที่เกิดมาจะมีความเท่าเทียมกันในฐานะการเป็นประชากรของรัฐ ได้แก่ มีสิทธิเสรีภาพ มีหน้าที่เสมอภาคกัน ไม่มีการแบ่งชนชั้นหรือการเลือกปฏิบัติ ควรดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ข่มเหงรังแกคนที่อ่อนแอหรือยากจนกว่า
  • 3) หลักนิติธรรม หมายถึง การใช้หลักกฎหมายเป็นกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน เพื่อความสงบสุขของสังคม
  • 4) หลักเหตุผล หมายถึง การใช้เหตุผลที่ถูกต้องในการตัดสินหรือยุติปัญหาในสังคม
  • 5) หลักการถือเสียงข้างมาก หมายถึง การลงมติโดยยอมรับเสียงส่วนใหญ่ในสังคมประชาธิปไตย ครอบครัว ประชาธิปไตย จึงใช้หลักการถือเสียงข้างมากเพื่อลงมติในประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างสันติวิธี
  • 6) หลักประนีประนอม หมายถึง การลดความขัดแย้งโดยการผ่อนหนักผ่อนเบาให้กัน ร่วมมือกันเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ หลักการทางประชาธิปไตยจึงเป็นหลักการสำคัญที่นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตในสังคม เพื่อก่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมได้
ความสอดคล้องของสถานภาพและบทบาทของบุคคลในวิถีชีวิตประชาธิปไตย

สถานภาพและบทบาทของบุคคลที่สอดคล้องกัน เช่น

  • 1) พ่อ แม่ ควรมีบทบาทดังนี้
    • (1) รับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนสมาชิกในครอบครัว
    • (2) ให้การศึกษาต่อสมาชิกของครอบครัว
    • (3) จัดสรรงบประมาณของครอบครัวให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจของสังคมและโลก
    • (4) ครองตนเป็นแบบอย่างที่ดีความรักต่อบุตร
  • 2) ครู – อาจารย์ ควรมีบทบาท ดังนี้
    • (1) ถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์โดยกระบวนการที่หลากหลายให้เหมาะสมกับความสามารถและความสนใจของนักเรียน
    • (2) ครองตนให้เหมาะสมและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์
    • (3) เป็นผู้เสียสละทั้งเวลาและอดทนในการสั่งสอนศิษย์ทั้งด้านความประพฤติและการศึกษา
    • (4) ยึดมั่นในระเบียบวินัย ตลอดจนปฏิบัติตามจรรยาบรรณครู 
  • 3) นักเรียน ควรมีบทบาท ดังนี้
    • (1) ยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรมและระเบียบของโรงเรียน
    • (2) รับผิดชอบต่อหน้าที่ในการศึกษาหาความรู้
    • (3) ให้ความเคารพต่อบุคคลที่อาวุโสโดยมีมารยาทที่เหมาะสมกับสถานการณ์
    • (4) รับฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสอนอย่างมีเหตุผล
    • (5) ขยันหมั่นเพียรในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม
    • (6) เสริมสร้างความสามัคคีในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน
คุณธรรมของการเป็นพลเมืองดี
  • 1. การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม 
  • 2. การมีระเบียบวินัยและรับผิดชอบต่อหน้าที่ 
  • 3. รับฟังความคิดเป็นขอบกันและกันและเคารพในมติของเสียงส่วนมาก 
  • 4. ความซื่อสัตย์สุจริต 
  • 5. ความสามัคคี 
  • 6. ความละอายและเกรงกลัวในการกระทำชั่ว 
  • 7. ความกล้าหาญและเชื่อมั่นในตนเอง
  • 8. การส่งเสริมให้คนดีปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ

จริยธรรมของการเป็นพลเมืองดี

  • คุณธรรม จริยธรรม หมายถึง ความดีที่ควรประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ คุณธรรม จริยธรรมที่ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดี ได้แก่
    • 1) ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หมายถึง การตระหนักในความสำคัญของความเป็นชาติไทย การยึดมั่นในหลักศีลธรรมของศาสนา และการจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์
    • 2) ความมีระเบียบวินัย หมายถึง การยึดมั่นในการอยู่ร่วมกันโดยยึดระเบียบวินัย เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม
    • 3) ความกล้าทางจริยธรรม หมายถึง ความกล้าหาญในทางที่ถูกที่ควร
    • 4) ความรับผิดชอบ หมายถึง การยอมเสียผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อผู้อื่น หรือสังคมโดยรวมได้รับประโยชน์จากการกระทำของตน
    • 5) การเสียสละ หมายถึง การยอมเสียผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อผู้อื่น หรือสังคมโดยรวมได้รับประโยชน์จากการกระทำของตน
    • 6) การตรงต่อเวลา หมายถึง การทำงานตรงตามเวลาที่ได้รับมอบหมาย

ความสำคัญของการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี
  • การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีของสังคม มีความสำคัญต่อประเทศ เช่น
    • 1. ทำให้สังคมและประเทศชาติมีการพัฒนาไปได้อย่างมั่นคง 
    • 2. ทำให้สังคมมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย 
    • 3. ทำให้เกิดความรักและความสามัคคีในหมู่คณะ 
    • 4. สมาชิกในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
  • การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีนั้นเป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่
  • แนวทางการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวโรงเรียนและชุมชนแนวทางการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นสมาชิกที่ดีมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้
    • 1. การเป็นสมาชิกที่ดีขอบครอบครัว 
    • 2. การเป็นสมาชิกที่ดีของโรงเรียน 
    • 3. การเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน
  • เมื่อทุกคนในสังคมไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็กพัฒนาตนเองให้เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ได้จะประสบความสำเร็จ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น